หน้าเว็บ

AFTA




เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

          เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือ อาฟต้า (AFTA) เป็นข้อตกลงทางการค้า สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด


ความเป็นมา
  • ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) หรืออาเซียนดั้งเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ในเดือนมกราคม 1992 โดยความริเริ่มของนายกรัฐมนตรีของไทย (นายอานันท์ ปันยารชุน) ต่อมามีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (1995) ลาว และพม่า (1997) และกัมพูชา (1999) รวมประชากรอาเซียนทั้งสิ้น 500 ล้านคน
  • อาเซียนมีความตกลง 2 ฉบับ ที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานอาฟต้า ได้แก่ ความตกลงแม่บทว่าด้วยการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน(Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Cooperation) ที่ใช้เป็นกรอบการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ และความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือเรียกสั้นๆ ว่า ความตกลงCEPT [Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (CEPT) Scheme for the ASEAN Free Trade Area (AFTA)] ที่ใช้เป็นกลไกในการดำเนินงานเขตการค้าเสรีอาเซียน



วัตถุประสงค์ของอาฟต้า

  • ส่งเสริมให้การค้าในอาเซียนขยายตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศต่างๆที่ใกล้ชิดกัน มักจะมีการค้าระหว่างกันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะไปค้าขายกับประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก เป็นต้น จึงคิดกันว่าควรขยายการค้าภายในให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
  • ถ้ารวมกันเป็นเขตการค้าเสรี การที่ภาษีลดต่ำลงจะเอื้ออำนวยให้การลงทุนจากประเทศที่สามเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น เพราะถ้ามาลงทุนในประเทศหนึ่งก็สามารถผลิตสินค้าไปขายในประเทศอาเซียนอื่นได้ โดยไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีต่ำมาก
  • ขณะนั้น การแข่งขันทางการค้าในโลกเริ่มเข้มข้นมากขึ้น และมีการเจรจารอบอุรุกวัย ภายใต้ WTO ซึ่งอาเซียนคิดว่าถ้าได้ซ้อมเปิดเสรีกันในกลุ่มเล็กนี้ก่อน ก็จะช่วยให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น


เป้าหมายของอาฟต้า

          ประเทศสมาชิกจะลดภาษีสินค้าทุกรายการให้เหลือ 0-5% ภายในเวลา 10 ปี จากที่เริ่มต้นลดภาษี แล้วลดให้เหลือ 0% ภายในปี 2553-2558 ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสมาชิกเดิมหรือสมาชิกใหม่ รวมทั้งจะต้องค่อย ๆ ทยอยลด/เลิกเครื่องกีดขวางทางการค้าทั้งหลายที่ไม่ใช่ภาษีต่าง ๆ ให้หมดไปด้วย เช่น การจำกัดโควตานำเข้าระหว่างกันและกัน   จะยกเลิกทันทีที่ภาษีของประเทศนั้น ๆ ลดเหลือ 20% หรือการกำหนดมาตรฐานสินค้า หรือการออกใบอนุญาตนำเข้า ก็จะทยอยลดลงไปเช่นกัน

อนาคตอาฟต้า

          เมื่อถึงปี 2546 ถือได้ว่าอาฟต้าสมบูรณ์แล้ว แต่ปัญหาที่อาจยังคงค้างอยู่ ได้แก่ มาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งจะต้องมีการลด/เลิกกันต่อไป นอกจากนี้อาจมีบางประเทศไม่ยอมปฏิบัติตามพันธกรณี ก็ต้องมีการเจรจากัน เช่น ไทยเจรจากับมาเลเซียในเรื่องรถยนต์ และมาเลเซียต้องให้การชดเชยแก่ไทย ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าในที่สุดพัฒนาการจะออกมาในรูปแบบนี้มากขึ้น เป็นต้น
โดยที่อาฟต้าเป็นเรื่องของการค้าสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น เมื่ออาฟต้าสมบูรณ์แล้ว เราก็จะมีการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอาเซียนด้านอื่นในกรอบกว้างและกรอบลึกต่อไป เช่นในด้านการค้าบริการ การลงทุน เป็นต้น
          นอกจากนี้ การจะขยายขอบเขตการค้าเสรีนี้นอกเขตอาเซียนก็มีความเป็นไปได้ เพราะไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำการค้าเสรีเฉพาะในอาเซียน แต่ที่ทำกันในอาเซียนกันก่อนเพื่อเป็นการเริ่มต้น เป็นการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่เวทีโลก และขณะนี้อาฟตาทั้ง 10ประเทศกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่า จะขยายเขตอาฟต้าออกไปครอบคลุมถึงเอเชียเหนือ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เช่นที่ทางทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปทำอยู่ รวมทั้งกำลังพิจารณาความร่วมมือระหว่างอาฟต้ากับเขตการค้าเสรีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ให้กว้างและลึกมากขึ้น เพราะมิฉะนั้นอาเซียนจะแข่งขันกับกลุ่มภูมิภาคอื่น ๆ ไม่ได้
          สำหรับเรื่องเงินสกุลเดียวกันคงต้องใช้เวลาอีกนานมาก เพราะมีปัญหาในขั้นตอนหลายอย่างทั้งทางด้านเทคนิคและนโยบายด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อีกทั้งแต่ละประเทศยังมีความพร้อมไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ประเทศเป็นเจ้าของเงินสกุลที่จะใช้เป็นเงินสกุลหลัก หรือ key currency นี้จะต้องมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างมาก แม้แต่สิงคโปร์ที่มีการเสนอให้เป็นเงินสกุลหลักก็ยังไม่พร้อม ไม่เหมือนกรณีเงินยูโรที่ทำได้ เนื่องจากได้เตรียมการมาก่อนหน้าถึง 30-40 ปีแล้วการค้าเสรีอาเซียน

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น